ดีหรือไม่...กับการใช้ Personal Branding เพื่อการทำการตลาดออนไลน์
ขณะนี้มีเจ้าของสินค้าและบริการหลายชนิดหลายแบรนด์ได้ให้ความนิยมกับการโปรโมทสินค้าและบริการด้วยตัวเองกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งการโปรโมทสินค้าในรูปแบบนี้ หลาย ๆ ท่านอาจจะรู้จักกันว่าคือการทำ Personal Branding
จริง ๆ แล้ว การทำ Personal Branding เป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างแบรนด์ การทำประชาสัมพันธ์ และการทำการตลาด รวมทั้งการนำมาใช้ในการสร้างชื่อเสียงให้กับบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างตั้งแต่ในอดีตแล้ว ซึ่งถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจนที่สุดคือการหาเสียงเลือกตั้ง สำหรับการใช้ Personal Branding เพื่อการทำธุรกิจ ก็ยังคงเห็นหลาย ๆ องค์กรได้นำมาใช้ในการสร้างภาพลักษณ์ให้กับสินค้าและบริการ แต่ในอดีตช่วงที่สื่อออนไลน์ยังไม่ได้รับความนิยม การทำ Personal Branding อาจจะไม่เห็นบ่อยและแพร่หลายมากนัก เนื่องจากต้องทำการโปรโมทสินค้าและบริการผ่านสื่อมวลชน ซึ่งต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงมาก แค่ซื้อพื้นที่โฆษณาบนนิตยสารก็ใช้เงินหลายหมื่นแล้ว ถ้าสื่อทีวี ซื้อพื้นที่ไม่กี่นาทีก็หลายแสนเลย พ่อค้าแม่ค้าทั่วไปคงทำไม่ได้
แต่ในปัจจุบัน ด้วยการความนิยมของสื่อออนไลน์ที่ใคร ๆ ก็สามารถเป็นเจ้าของได้ รวมทั้งเทคโนโลยีด้านการผลิตสื่อ ทำให้การทำ Personal Branding ง่ายขึ้นมาก แค่มีมือถือหรือกล้องถ่ายภาพ ก็ สามารถถ่ายคลิปแบบง่าย ๆ ด้วยตัวเอง
ได้แล้ว ไม่ต้องไปจ้างกองถ่ายให้ยุ่งยาก ทำคลิปเสร็จไปโปรโมทบน YouTube, Facebook หรือ Social Media ต่าง ๆ ได้เอง ไม่ต้องเสียเงินซื้อสื่อเลย จึงทำให้ผู้ทำธุรกิจขนาดเล็ก ๆ ได้นำ Personal Branding มาใช้ในการทำการตลาดและโฆษณาออนไลน์กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การทำ Personal Branding บนสื่อออนไลน์ แม้จะมีข้อดีที่ง่าย เร็ว และแทบจะฟรี แต่ก็มีข้อควรระวังในการทำ Personal Branding บนสื่อออนไลน์อยู่บ้าง ซึ่งผู้เขียนขอยกตัวอย่างดังต่อไปนี้
1. การสร้างภาพลักษณ์ของบุคคลให้ชัดเจนและสื่อถึงสินค้าและบริการได้อย่างลงตัว เช่น ถ้าขายครีมบำรุงผิวหน้าใส ผู้ที่ขายสินค้าก็ควรจะเป็นคนที่มีผิวหน้าใส ถ้าขายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ก็ควรจะเป็นคนที่มีสุขภาพดี เป็นต้น
2. การรักษาภาพลักษณ์ของผู้ที่ทำ Personal Branding ให้คงสภาพเดิมไปตลอด ซึ่งประเด็นนี้บอกได้เลยว่ายากมากสำหรับการทำธุรกิจระยะยาว เพราะด้วยเวลาและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา หรืออาจจะมีการกระทำบางอย่างที่เกิดขึ้น อาจทำให้ภาพลักษณ์เดิมสูญเสียไป และส่งผลให้เกิดภาพลักษณ์ในเชิงลบกับสินค้าและบริการได้
3. การสร้างภาพลักษณ์ที่อาจก่อให้เกิดความคิดเห็นในเชิงลบ หรือทำให้ผู้ชมสื่อและโฆษณารู้สึกไม่ชื่นชอบ ซึ่งในกรณืเช่นนี้มักเกิดกับการสร้าง Personal Branding ที่อาจจะไม่สอดคล้องหรือขัดแย้งกับกระแสสังคมหรือวัฒนธรรมของพื้นที่ที่โปรโมทสินค้าและบริการ จึงทำให้ผู้ชมสื่อหรือโฆษณาเกิดความรู้สึกไม่ชื่นชอบ และอาจจะมีผลตอบรับในเชิงลบกลับมาถึงสินค้าและบริการได้
รับชมประวัติของผู้เขียนที่นี่